Zasulich, Vera Ivanova (1849–1919)

นางเวรา อีวาโนวา ซาซูลิช (พ.ศ. ๒๓๙๒–๒๔๖๒)

 เวรา อีวาโนวา ซาซูลิช เป็นนักปฏิวัติรัสเซียรุ่นบุกเบิกและเป็นสมาชิกองค์การปฏิวัติหัวรุนแรงที่เรียกชื่อว่ากลุ่มที่ดินและเสรีภาพ (Land and Liberty) ซึ่งเคลื่อนไหวก่อการจลาจลและจุดชนวนลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธให้แก่ชาวนา หลังกลุ่มที่ดินและเสรีภาพขัดแย้งทางความคิดด้านแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติและแบ่งแยกเป็น ๒ กลุ่ม ซาซูลิชเข้าร่วมกับกลุ่มเชียร์นี เปเรดยาล (Cherny Peredyal) ซึ่งมีเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* เป็นผู้นำเธอร่วมกับเปลฮานอฟปาเวล อัคเซลรอด (Pavel Akselrod)* และเลฟเดย์ช (Lev Deich) แกนนำกลุ่มปฏิวัติรัสเซียนอกประเทศจัดตั้งองค์กรปฏิวัติลัทธิมากซ์องค์กรแรกขึ้นเพื่อเผยแพร่ลัทธิมากซ์ในขบวนการปฏิวัติรัสเซียและนำไปสู่การจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party–RSDLP)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ แต่เมื่อพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียมีความคิดเห็นขัดแย้งเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกและวิธีการรับสมาชิกและแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่มีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)*เป็นผู้นำ กับกลุ่มเมนเชวิค (Mensheviks)* ที่มียูลี มาร์ตอฟ (Yuli Martov)* เป็นผู้นำ ซาซูลิชสนับสนุนมาร์ตอฟ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เธอสนับสนุนรัฐบาลซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ในการเข้าสู่สงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* และต่อต้านการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗

 ซาซูลิชเกิดในครอบครัวยากจนเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ที่เมืองมีไฮลอฟกา (Mikhaylovka) จังหวัดสโมเลนสค์ (Smolensk) ทางตะวันตกของจักรวรรดิรัสเซีย เธอเป็นบุตรสาวคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้องชายหญิงรวม๕ คน อีวาน (Ivan) บิดาเป็นทหารยศร้อยเอกที่พบรักกับเฟโอคิสตา (Feoktista) ธิดาสาวของขุนนางระดับล่างที่ยากไร้ ขณะซาซูลิชอายุได้ ๓ ขวบ บิดาก็เสียชีวิต มารดาซึ่งไม่อาจแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรทั้ง ๕ คน จึงส่งซาซูลิชไปให้ญาติที่มีฐานะเลี้ยงดู หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ซาซูลิชเดินทางไปที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) และได้งานทำเป็นเสมียน เธอสนใจข่าวสารและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งชอบอ่านหนังสือการเมือง เมื่อนักศึกษาที่เธอรู้จักคนหนึ่งแนะนำให้เธออ่านงานเขียนของนีโคไล เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky)* ปัญญาชนแนวคิดสังคมนิยม ซาซูลิชก็ศรัทธาเชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมและเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อจัดตั้งกรรมกรและต่อสู้เพื่อสังคมแห่งความเสมอภาคใน ค.ศ. ๑๘๖๙ ซาซูลิชมีโอกาสพบและรู้จักเซียร์เกย์ เนชาเยฟ (Sergey Nechayev) นักปฏิวัติหัวรุนแรงที่เป็นสหายของมีฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin)* นักอนาธิปไตย เนชาเยฟทำให้เธอเข้าใจว่าเขาตกหลุมรักเธอ เขาชี้แนะให้เธอยอมรับการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการปฏิวัติ ซาซูลิชถูกหลอกใช้ให้เป็นแกนนำก่อการจลาจลทางสังคม แต่ตำรวจสืบเบาะแสได้และแผนก่อการจลาจลล้มเหลว เธอถูกจับและต้องโทษ ๔ ปี ส่วนเนชาเยฟหนีไปต่างประเทศได้

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ซาซูลิชพ้นโทษและไปทำงานเคลื่อนไหวที่เมืองเคียฟ (Kiev) โดยเข้าร่วมกับกลุ่มปฏิวัติหัวรุนแรงที่สนับสนุนบาคูนิน ความเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์และความสันทัดด้านภาษาต่างประเทศคือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสทำให้ซาซูลิชเป็นที่ยอมรับของกลุ่มในเวลาอันรวดเร็วและได้รับเลือกเป็นผู้นำใน ค.ศ. ๑๘๗๔ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง (Mad Summer of 1874)* อันสืบเนื่องจากการเกิดทุพภิกขภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำดอนและวอลกา ปัญญาชนที่เชื่อมั่นในแนวความคิดทางการเมืองของ อะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* เห็นว่าชาวนาคือรากฐานของสังคมและการให้การศึกษาเรื่องสังคมนิยมและชี้นำชาวนาให้มีจิตสำนึกทางการเมืองจะทำให้ชาวนาก่อการปฏิวัติและก้าวไปสู่การสร้างสังคมแบบสังคมนิยมได้เพราะคอมมูนชาวนามีหน่ออ่อนของสังคมนิยมอยู่แล้ว รัสเซียสามารถก้าวกระโดดไปสู่สังคมใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* พวกเขาต่างเดินทางลงสู่ชนบทไปช่วยเหลือชาวนาและเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยม กลุ่มของซาซูลิชก็เข้าร่วมไปปลุกระดมชาวนาด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวนาส่วนใหญ่ซึ่งหัวอนุรักษ์และเชื่อมั่นในจารีตประเพณีทั้งจงรักภักดีต่อซาร์ปฏิเสธแนวความคิดสังคมนิยมและจำนวนไม่น้อยบอกตำรวจให้จับกุมกวาดล้างการเคลื่อนไหวของปัญญาชนแนวทางรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populist)* หรือนารอดนิค (Narodnik)* จึงล้มเหลวและปัญญาชนกว่า ๑,๕๐๐ คนถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมความคิดทางการเมืองและบ่อนทำลายสังคม

 หลังการกวาดล้างจับกุม กลุ่มปัญญาชนที่หนีรอดไปได้หันมาปรับปรุงองค์การให้เข้มแข็งและปรับแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติใหม่ ซาซูลิชได้เข้าร่วมกับกลุ่มที่ดินและเสรีภาพซึ่งใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อผลักดันการปฏิวัติและการขยายสมาชิกโดยเฉพาะกรรมกรตามเมืองต่างๆเธอสามารถหาสมาชิกได้มากและจัดชุมนุมตามที่สาธารณะตามโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสม เธอจัดตั้งกลุ่มศึกษาการเมืองให้แก่กรรมกรและทำงานหนักจนไม่สนใจตัวเอง เธอสูบบุหรี่จัดและกินอาหารไม่เป็นเวลา ทั้งปล่อยเนื้อปล่อยตัวอย่างไรก็ตามตำรวจพยายามสืบเบาะแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ดินและเสรีภาพและมักหาเหตุจับกลุ่มปัญญาชนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มและการเคลื่อนไหวของกรรมกรเสมอ ในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๗เกิดเหตุการณ์การทำร้ายนักโทษที่สร้างความไม่พอใจทั่วไปในสังคม อะเล็กเซย์ โบโกลูย์บอฟ (Alexei Bogolyubov) นักโทษการเมืองปฏิเสธที่จะถอดหมวกทำความเคารพฟิโอดอร์ เตรปอฟ (Fyodor Trepov) ข้าหลวงแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่มาตรวจเยี่ยมเรือนจำเตรปอฟจึงสั่งให้เฆี่ยนโบโกลูย์บอฟอย่างหนักจนเขาเสียสติ ข่าวการลงโทษที่รุนแรงดังกล่าวทำให้นักปฏิวัติและปัญญาชนจำนวนไม่น้อยขุ่นเคืองเพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่แสดงถึงการใช้อำนาจเผด็จการทั้งเตรปอฟซึ่งมีชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยมในการปราบปรามการกบฏของชาวโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ และ ค.ศ. ๑๘๖๓ ก็เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปเกลียดชังซาซูลิชและสหายรวม ๖ คนจึงคบคิดวางแผนสังหารเตรปอฟและข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 ในต้น ค.ศ. ๑๘๗๘ ซาซูลิชเดินทางไปที่ทำงานของเตรปอฟโดยมีปืนพกซ่อนไว้ในเสื้อคลุมและยิงเขาจนเสียชีวิต เธอถูกจับกุมด้วยข้อหาฆาตกรรมที่วางแผนไว้ก่อน ในช่วงการพิจารณาคดี ซาซูลิชให้การว่ามูลเหตุของการกระทำเป็นเพราะความรู้สึกด้านมโนธรรมของเธอถูกทำร้ายและเธอต้องการแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่ใช้อำนาจข่มเหงย่ำยีคนอื่นสมควรที่จะได้รับการตอบโต้ การให้การที่ฉะฉานรวมทั้งการมีทนายที่เก่งทำให้ทั้งคณะลูกขุนและประชาชนที่เข้าฟังการพิจารณาคดีต่างประทับใจ และประชาชนจำนวนมากนอกห้องพิจารณาคดีก็ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอทั้งเชื่อว่าพยานและหลักฐานต่าง ๆ ที่ตำรวจใช้เป็นการจัดฉาก ศาลตัดสินให้ซาซูลิชพ้นผิดในข้อหาฆ่าคนแต่มีความผิดในข้อหาเกี่ยวข้องกับองค์การใต้ดินและตัดสินเนรเทศไปไซบีเรีย ในช่วงการควบคุมตัวเพื่อส่งเข้าคุก สมาชิกกลุ่มที่ดินและเสรีภาพก่อความวุ่นวายทั้งภายในและนอกศาลจนตำรวจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในช่วงความโกลาหลวุ่นวายดังกล่าวซาซูลิชได้รับความช่วยเหลือให้หลบหนีไปได้

 การปฏิบัติการอย่างอาจหาญของซาซูลิชในการสังหารเตรปอฟนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเคลื่อนไหวปฏิวัติรัสเซียเพราะทำให้แนวทางการใช้ความรุนแรงซึ่งปัญญาชนปฏิวัติคนสำคัญ เช่น ดิมีตรีปีซาเรฟ (Dimitri Pisarev) ปิออตร์ ตคาชอฟ (Pyotr Tkachov) เคยเสนอไว้ในช่วงกลางทศวรรษ ๑๘๖๐ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับกันในขณะนั้นกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในทศวรรษ ๑๘๘๐ กลุ่มที่ดินและเสรีภาพเห็นว่าการใช้ความรุนแรงและภารกิจก่อการร้ายเพื่อตอบโต้อำนาจรัฐเป็นวิธีการที่เหมาะสมเพราะเป็นการป้องกันตนเองของเหล่านักปฏิวัติ เป็นการล้างแค้น และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แนวทางการใช้ความรุนแรงก็ทำให้กลุ่มที่ดินและเสรีภาพแบ่งแยกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนวิธีการก่อการร้ายและความรุนแรงซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนมีชื่อเรียกว่า กลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) และกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางสันติด้วยการเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมกรและชาวนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปเรียกว่า กลุ่มแบล็กพาร์ทิชัน (Black Partition) ซึ่งมีเปลฮานอฟเป็นผู้นำ ซาซูลิชสนับสนุนกลุ่มแบล็กพาร์ทิชันและเธอพยายามเรียกร้องให้กลุ่มเจตจำนงประชาชนยุติแนวทางการใช้ความรุนแรง

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ สมาชิกกลุ่มเจตจำนงประชาชนที่มีโซเฟีย เปรอฟสกายา (Sophia Perovskaya)* เป็นแกนนำประสบความสำเร็จในการลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III)* ซึ่งสืบทอดบัลลังก์จึงดำเนินการปราบปรามกวาดล้างฝ่ายปฏิวัติอย่างเด็ดขาด การกวาดล้างของรัฐบาลทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติหยุดนิ่ง ซาซูลิชหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และได้พบกับเปลฮานอฟซึ่งหนีออกมาก่อนเธอ ทั้ง ๒ คนหันไปศึกษาแนวความคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ของมากซ์ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการสังคมนิยมยุโรปในเวลานั้น ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ ซาซูลิชร่วมกับเปลฮานอฟเลฟ เดย์ช ปาเวล อัคเซลรอด และอะเล็กซานเดอร์ โปเตรซอฟ (Alexander Potresov)* แกนนำกลุ่มนักปฏิวัติรัสเซียนอกประเทศจัดตั้งกลุ่มปฏิวัติลัทธิมากซ์องค์กรแรกขึ้น กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ลัทธิมากซ์ในขบวนการปฏิวัติรัสเซียและผลักดันการจัดตั้งพรรคปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ขึ้นในรัสเซีย ซาซูลิชแปลงานของมากซ์หลายเล่มและสรุปสาระสำคัญของแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* เขียนเป็นบทความเผยแพร่ งานแปลของเธอมีส่วนทำให้แนวคิดลัทธิมากซ์เป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้นในขบวนการปฏิวัติรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๘๙๕เลนินนักปฏิวัติลัทธิมากซ์ไฟแรงซึ่งหลบหนีจากไซบีเรียเดินทางมาร่วมงานกับกลุ่มของเปลฮานอฟและซาซูลิชที่นครเจนีวา กลุ่มปฏิวัติลัทธิมากซ์นอกประเทศจึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สันติบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (Leagueof the Struggle for the Liberation of the Working Class) กลุ่มดังกล่าวได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานเข้ามาในรัสเซียและเผยแพร่ลัทธิมากซ์ให้แก่ปัญญาชนและกรรมกรหัวก้าวหน้าโดยใช้วารสาร Iskra เป็นสื่อเผยแพร่นโยบายและแนวทางปฏิวัติซาซูลิชซึ่งร่วมอยู่ในคณะกองบรรณาธิการวารสารและสันทัดเรื่องกรรมกรได้เขียนบทความและทฤษฎีการเมืองชี้นำทางความคิดให้แก่กรรมกรอย่างสม่ำเสมอและรณรงค์เรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๒ ผู้แทนองค์การลัทธิมากซ์กลุ่มต่าง ๆ ในรัสเซียได้จัดประชุมใหญ่ขึ้นที่เมืองปสคอฟ (Pskov) ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมากนัก เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดำเนินงานเพื่อจัดการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้น ผลสำคัญทางการประชุมครั้งนี้คือการกำหนดจัดการประชุมใหญ่ขึ้นในกลางค.ศ. ๑๙๐๓ที่กรุงบรัสเซลส์เบลเยียม และมีมติจะให้ใช้ชื่อพรรคว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย ซึ่งเป็นพรรคปฏิวัติที่รวมศูนย์และมีนักปฏิวัติมืออาชีพเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม ในการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์นั้น ขณะประชุมได้ไม่นานนักตำรวจก็เข้าควบคุมพื้นที่และห้ามการประชุมจึงย้ายมาประชุมกันต่อที่กรุงลอนดอน แม้ที่ประชุมจะมีมติเอกฉันท์เรื่องชื่อพรรคและการกำหนดหลักนโยบายพรรคเฉพาะหน้าที่จะโค่นล้มระบอบซาร์ ยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน และสร้างระบอบสาธารณรัฐประชา-ธิปไตยขึ้น แต่ในประเด็นเกี่ยวกับการคัดเลือกสมาชิกและคุณสมบัติของสมาชิก ที่ประชุมมีความคิดเห็นขัดแย้งกันและแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้ชื่อว่าบอลเชวิค ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยได้ชื่อว่าเมนเชวิค พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจึงแบ่งเป็น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒ โดยซาซูลิชสนับสนุนมาร์ตอฟ

 เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* และเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ นักปฏิวัติที่อยู่นอกประเทศต่างเดินทางกลับเข้าประเทศและเข้าร่วมกับสภาโซเวียต (Soviet) ซึ่งเป็นสภาคนงานที่ชี้นำการเคลื่อนไหวของกรรมกรซาซูลิชเดินทางกลับเข้าประเทศด้วยและสนับสนุนเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ผู้นำสภาโซเวียตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปประเทศที่ขยายตัวไปทั่วทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ประสงค์จะใช้กองกำลังปราบปรามเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง แต่เคานต์เซียร์เกย์ วิตเต (Sergey Witte)* อัครมหาเสนาบดีทูลเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังเพราะจะนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมมากขึ้นทั้งอาจเกิดสงครามกลางเมือง เขาทูลเสนอให้พระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงทรงประกาศแถลงการณ์เดือนตุลาคม (October Manifesto)* เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคมสัญญาว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม การจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* และการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม ท้ายที่สุดรัฐบาลจึงควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้และเริ่มดำเนินการปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม ซาซูลิชสามารถหลบหนีการกวาดล้างออกไปนอกประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง

 ความปราชัยของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ และการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญา-สิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญส่งผลให้ขบวนการปฏิวัติรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖–๑๙๑๒หยุดนิ่งทั้งดูเสมือนว่าราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* จะยังคงครองอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ซาซูลิชรู้สึกท้อแท้และผิดหวัง เธอถอนตัวจากแวดวงการเมืองและเก็บตัวเงียบ แม้นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปสกายา (Nadezhda Konstantinovna Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินและอีเนสซา เฟโอโดรอฟนา อาร์มันด์ (Inessa Feodorovna Armand)* สหายหญิงที่ใกล้ชิดของเลนินจะพยายามโน้มน้าวเธอให้เข้าร่วมจัดอบรมทางการเมืองให้แก่ผู้ปฏิบัติงานพรรคและทำหนังสือสำหรับผู้หญิงเพื่อเสนอแนวความคิดสังคมนิยมและการเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรีเผยแพร่ในหมู่กรรมกรและขบวนการสังคมนิยมยุโรป แต่ซาซูลิชก็ไม่สนใจ

 เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ เลนินและกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* แกนนำบอลเชวิคเรียกร้องให้นักสังคมนิยมผนึกกำลังกันเพื่อต่อต้านสงครามและสนับสนุนให้นักปฏิวัติเคลื่อนไหวเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมือง ตลอดจนให้จัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ซึ่งแตกสลายลงเพราะสนับสนุนสงคราม ซาซูลิชไม่เห็นด้วยกับเลนินและเธอประกาศสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียในการดำเนินนโยบายสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิฝ่ายปฏิวัติหัวรุนแรงประณามเธอว่าเป็นคนทรยศต่ออุดมการณ์และแปรพักตร์ หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution ค.ศ. ๑๙๑๗)* ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย และรัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียตเธอเดินทางกลับกรุงเปโตรกราด (Petrograd) และติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* เป็นผู้นำ ต่อมาเมื่อบอลเชวิคยึดอำนาจรัฐในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซาซูลิชต่อต้านการยึดอำนาจครั้งนี้เพราะเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียยังอ่อนแอและไม่พร้อมที่จะบริหารปกครองประเทศ และการยึดอำนาจเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร เธอยังเห็นว่าพวกเรดการ์ด (Red Guard) เป็นเครื่องมือของบอลเชวิคในการปกครองไม่แตกต่างจากหน่วยตำรวจในสมัยซาร์

 สองเดือนหลังรัฐบาลโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อถอนตัวจากสงครามซาซูลิชซึ่งสุขภาพอ่อนแอร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคเมนเชวิคและกลุ่มปีกขวาของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ต่อต้านการทำสนธิสัญญากับเยอรมนีเป็นครั้งสุดท้ายแต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ล้มเหลว เธอจึงหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่และล้มป่วยจนเสียชีวิตอย่างเดียวดายเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ รวมอายุได้ ๗๐ ปี.



คำตั้ง
Zasulich, Vera Ivanova
คำเทียบ
นางเวรา อีวาโนวา ซาซูลิช
คำสำคัญ
- กลุ่มเจตจำนงประชาชน
- กลุ่มแบล็กพาร์ทิชัน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติรัสเซีย
- ครุปสกายา, นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชียร์นีเชฟสกี, นีโคไล
- ซาซูลิช, เวรา อีวาโนวา
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- แถลงการณ์เดือนตุลาคม
- นารอดนิค
- บอลเชวิค
- บาคูนิน, มีฮาอิล
- เปรอฟสกายา, โซเฟีย
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- โปเตรซอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มหาอำนาจกลาง
- มากซ์, คาร์ล
- มาร์ตอฟ, ยูลี
- เมนเชวิค
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง
- ลัทธิมากซ์
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วันอาทิตย์นองเลือด
- วิตเต, เคานต์เซียร์เกย์
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สภาดูมา
- สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- อัคเซลรอด, ปาเวล
- อาร์มันด์, อีเนสซา เฟโอโดรอฟนา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1849–1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๒–๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-